My Empty World

Saturday, May 07, 2005

เดอะ แดนเซอร์ คอมพานี

เพิ่งกลับบ้าน หลังจากไปแวะดูการเแสดงของ เดอะแดนเซอร์คอมพานี ที่กาดเธียร์เตอร์ กาดสวนแก้วมา

เรื่องมันเริ่มจากหลายวันก่อน เดฟ ริง เอาโปสเตอร์ เดอะแดนเซอร์คอมพานี ( The Dancers’s Company) มาแปะไว้ที่หน้าห้องของแก ซึ่งก็อยู่หลังที่นั่งผมนี่เอง ดูจากโปสเตอร์แล้ว คิดว่าเป็นบัลเล่ต์ ผมไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่ก็ไม่วาย จดวันและเวลาการแสดงเอาไว้ในปาล์ม

วันนี้หลังจากเลิกเรียนแล้ว ก็ไม่รู้จะทำอะไร ฝนที่ตกพรำ ๆ มาตั้งแต่ตอนเช้าก็ยังไม่ยอมหยุด ด้วยความเหงาปนความเคยชิน ผมก็แวะไปที่ร้าน Kopi Gusto อีกตามเคย ไปนั่งจิบน้ำชาอ่านหนังสือ ท่ามกลางฝนตกปรอย ๆ
แต่แล้วก็มีเสียงเตือนออกมาจากปาล์ม ถึงได้รู้วันนี้มีการแสดงที่กาดสวนแก้ว

ด้วยความที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับอารมณ์เหงา ก็เลยขับรถไปคนเดียว

ไปถึงที่กาดสวนแก้วเกือบ ๆ หกโมง แวะซื้อบัตร บัตรมีราคา 100, 400, 500 และ 1,000 บาท แน่นอนว่าผมเลือกราคา 100 บาท

ไปถึงหน้าโรงละครกาดเธียร์เตอร์ มีคนมารอเยอะแล้วเหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งมากกว่าคนไทย เหมือนผมหลงเข้ามาในงานรวมรุ่นขององค์กรอะไรสักอย่าง เพราะดูทุกคนจะรู้จักกันหมด ต่างคนต่างทักทายกัน มีผมคนเดียวที่เข้าไปแล้วไม่รู้จักใคร เลยต้องนั่งแอบ ๆ อยู่ในหลืบริม ๆ

คณะเดอะแดนเซอร์คอมพานี เป็นนักแสดงที่เป็นนักศึกษาจากภาควิชาเต้นรำ คณะสุขศึกษา พลศึกษา มหาวิทยาลับ บริคัม ยัง โพรโว, ยูท่าห์ สหรัฐอเมริกา เป็นนักเต้นที่ออกตระเวนแสดงไปได้กว้างไกลที่สุดในสหรัฐ (ข้อมูลอ้างอิงจากสูจิบัตรที่แจกหน้างาน) ซึ่งปีนี้มาแวะเยี่ยมที่ประเทศ ไทย เวียตนาม และไต้หวัน

จนเกือบหนึ่งทุ่ม ทางโรงละครเปิดประตูให้เข้า

การแสดงชุดแรกเป็นของคณะ เชียงใหม่บัลเล่ต์เพอร์ฟอร์มมิ่งกรุ๊ป (The ChiangMai Ballet Performing Group – The ChiangMai Ballet Academy) แสดงเรื่อง ลูกเป็ดขี้เหร่

เป็นเรื่องราวของลูกหงส์ที่บังเอิญไปอยู่ในฝูงเป็ด ด้วยความที่ไม่เหมือนใครเลยโดนเรียกว่าลูกเป็ดขี้เหร่ และไม่ให้เข้าพวกด้วย

ลูกเป็ดขี้เหร่ขอไปอยู่กับพวกกระต่าย ก็เข้ากับเขาไม่ได้

ลูกเป็ดไปเจอฝูงกวาง ก็เข้าพวกกับเขาไม่ได้

แต่สุดท้ายลูกเป็ด ก็เติบโตมาเป็นหงส์ที่สวยงาม และ เจอฝูงหงส์ด้วยกัน จึงใช้ชีวิตอยู่กับหงส์ฝูงนั้นอย่างมีความสุข


ชุดต่อมาเป็นการแสดงของจริงจาก เดอะแดนเซอร์คอมพานี สักที ลูกเป็ดขี้เหร่เมื่อกี๊เหมือนเป็นของเรียกน้ำย่อย

ผู้จัดออกมาเกริ่นถึงการแสดง เขาให้คำจำกัดความของการแสดงของตัวเองว่าเป็น Contemporary Dance หรือการเต้นร่วมสมัย โดยนักแสดง(นักเต้น) แต่ละคนจะเต้นด้วยเท้าเปล่า

การแสดงแบ่งออกเป็นเก้าชุด

ชุดแรกมีชื่อว่า ปฐมกาล มีโทนของการแสดงออกไปทางสีเขียว น้ำเงิน (ตามคำบรรยายของสูจิบัตรเขียนว่า เป็นจินตภาพแห่งแสงสว่าง น้ำ แผ่นดิน โลก) มีคนออกมาเต้น วนไปวนมา รวมตัว แล้วก็แยกกลุ่ม โทนของสีออกมาเย็น ๆ แต่มีการเคลื่อนไหวแบบไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา ให้ความรู้สึกเหมือนมีสิ่งมีชีวิตกำลังก่อเกิดขึ้น ดุแล้วทำให้นึกถึงเวลาเราเห็นเซลล์เกิดการแบ่งตัวใต้กล้องจุลทรรศน์ มันเป็นความรู้สึกคล้าย ๆ กันอย่างนั้น

ชุดที่สองมีชื่อว่า มามะ ไปด้วยกัน เป็นการแสดงที่ผู้จัดอุทิศให้แก่สามีของเธอ (ไม่ได้บอกว่าล่วงลับไปแล้วหรือเปล่า) ชุดนี้เป็นชุดที่ผมชอบมาก มีนักเต้นเพียงสองคน ชายกับหญิงในชุดขาว แต่ด้วยลีลาการเต้นที่เป็นการกอดเกลียวเกี่ยวกระหวัด แสดงถึงความรักที่ทั้งคู่มีต่อกัน เพลงประกอบเป็นเพลงช้า ๆ คล้ายเพลงแนวแจ๊ส แต่จังหวะกระชับกว่า และการจัดแสงสีที่ดูเย็น ๆ แต่แฝงความอบอุ่น ผมอาจจะบรรยายออกมาในนี้ได้ไม่ดีนัก แต่มันให้ความรู้สึกซึ้งกับนักเต้นสองคนนี้มาก พวกเขาสามารถสื่อถึงความรักที่คนสองคนมีต่อกันได้ดีจริง ๆ ดู ๆ แล้วก็สะท้อนใจถึงเรื่องของตัวเอง การแสดงชุดนี้ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมมากทีเดียว (มีเสียงเป่าปากด้วย)

ชุดที่สามมีชื่อว่า ล้ม ๆ ลุก ๆ แต่น่ารัก เป็นการเต้นล้อเลียนพวกบัลเล่ต์คลาสสิก เพียงแต่ …นักแสดงออกมาเต้น พร้อมไม้ค้ำยัน เป็นการเต้นที่ตลกและเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้เยอะมาก โทนของการแสดงชุดนี้ออกไปทางสีสันสดใส นักแสดงใส่ชุดสีเหลือง พร้อมไม้ค้ำยันสีลูกกวาด การแสดงชุดนี้ ดูจากสูจิบัตรแล้ว ต้องการสื่อถึง “ความสามารถในการสร้างสรรค์ และฟื้นคืนดีดังเดิมของมนุษยชาติ”

ชุดที่สี่มีชื่อว่า แตกกลุ่ม เป็นการเต้นที่ออกจะน่าเบื่อสำหรับผม เป็น “ภาพสะท้อนของสังคมที่แตกสลาย” โทนของการแสดงชุดนี้ออกไปทางสีแดง ร้อนแรง ทั้งแสงไฟละเสื้อผ้า ให้ความรู้สึกตึงเครียดมากกว่าจะจรรโลงจิตใจ

ชุดที่ห้ามือชื่อว่า จากห้วงหุบเหว การแสดงชุดนี้ผู้จัดบอกว่า อุทิศให้กับ “ผู้ที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของอเมริกาในทศวรรษที่ 1930 และแด่ใครก็ตามที่เอาชนะความยากลำบากไดด้วยจิตศรัทธาและความกล้าหาญ” การแสดงชุดนี้ นักเต้นชายออกมาในชุดแบบโบราณหน่อย ๆ (กางเกงผ้าแบบมีสายคล้องไหล่) นักเต้นหญิงก็ใส่กระโปรงแบบกระโปรงตัวเดียว ผ้าพริ้ว ๆ (ถ้าใครเคยดูเรื่อง Cold Mountain คงนึกออก เป็นกระโปรงคล้าย ๆ กันอย่างนั้น) การแสดงแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรก แสดงถึงภาวะแห้งแล้ง ปลูกต้นไม้ไม่ขึ้น แสงบนเวทีเป็นโทนร้อน ดูแห้งแล้ง ช่วงที่สองบอกเรื่องราวการออกเดินทางหาแหล่งทำกินใหม่ของชาวบ้าน ช่วงสุดท้ายแสดงถึงความหวังของชาวบ้านที่จะพบกับที่ทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่านี้ เพลงประกอบการเต้นเป็นเพลงแบบประสานเสียง (คล้าย ๆ ที่เคยได้ยินในโบสถ์ฝรั่ง) เพราะมาก โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายที่แสดงออกถึงความหวังของที่ยังมีอยู่ของทุกคน นี่เป็นอีกชุดที่ผมชอบมาก

ชุดที่หกชื่อ 2005มาแล้ว เป็นการผสมผสานของการเต้นโดยใช้จังหวะอัฟริกัน เป็นการเต้นที่ไม่มีเสียงเพลงประกอบ ใช้แค่เสียงตบมือ ตบไหล่ ตบขา ของนักแสดงแต่ละคน นักแสดงออกมาในชุดคล้าย ๆ ชุดพรางของทหาร แต่เป็นชุดพรางที่มีสีสันสดใส ออกเหลืองๆ ส้มๆ การแสดงชุดนี้ผมคิดว่าเป็นการแสดงออกถึงความพร้อมในการซักซ้อมกันอย่างมาก ทุกคนตบมือ ตบขาเป็นจังหวะที่เข้ากันได้อย่างดีมาก ไม่มีหลุด ไม่น่าเชื่อว่าคนแค่สิบหกคนบนเวทีจะสามารถใช้เสียงตบมือ กระทืบเท้า และจังหวะการเต้น สะกดเอาคนทั้งโรงละครเงียบกริบไปกับการแสดงของพวกเขาได้ พอจบชุดนี้ ผู้ชม(รวมทั้งผม) ก็พากับปรบมือกันดังก้อง เป่าปากแสดงความชื่นชมกันทั้งโรงละคร เป็นอีกชุดที่ผมประทับใจ

ชุดที่เจ็ดชื่อ ฉันเชื่อ เป็นการแสดงเดี่ยวของนักเต้นหญิง บอกถึง “ ศรัทธาและความหวังใจในอนาคต” เป็นนักแสดงหญิงคนเดียวออกมาเต้น จุดโคมไว้หนึ่งดวงข้างเวที (คงจะบอกถึงความหวังขอกเธอ) แสงไฟบนเวทีหรี่มืด เป็นการแสดงสั้น ๆ แต่ชุดนี้ก็ได้รับเสียงปรบมือไปไม่น้อยเหมือนกัน

ชุดที่แปดชื่อ ระบำฟูก ขอบอกว่าการแสดงชุดนี้เป็นชุดที่ผมชอบที่สุดแล้ว เป็นการแสดงที่นักแสดงเลียนแบบพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่มักจะถูกพ่อแม่ ห้ามไม่ให้กระโดดโลดเต้นบนที่นอน ในการแสดงชุดนี้ เลยเป็นเหมือนการปลดปล่อยอารมณ์เด็ก ๆ ภายในตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ มีการกระโดดลงมาบนที่นอนในท่วงท่าต่าง ๆ (เหมือนจะประกวดประชันกัน) มีการเอาที่นอนมาพันรอบตัวแล้วกลิ้งไปรอบเวที เอาที่นอนออกมาตีกัน เป็นการบ่งบอกถึงจินตนาการของเด็ก ๆ ที่เอาของธรรมดา ๆ อย่างที่นอนมาเป็นเครื่องเล่นได้อย่างไม่รู้จบ โทนสีของการแสดงชุดนี้(ทั้งชุดนักเต้น ฟูกที่นอน และ แสงไฟ) ออกไปทางสีสดใส เหลือง ฟ้า ม่วง แดง ส้ม เขียว เพลงประกอบ ก็มีความสนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ไม่รู้จบ

ชุดสุดท้าย ชื่อ สู่สวรรค์ ชุดนี้ก็เป็นการเต้นอีกเหมือนกัน แต่มีอุปกรณ์เสริม คือ ผ้าพริ้ว ๆ สีฟ้าม่วง (ขนาดผืนใหญ่กว่าผ้าเช็ดหน้าเล็กน้อย - เป็นผ้าสีเดียวกับที่ใช้เป็นรูปประกอบสูจิบัตร) นักแสดงออกมาในชุดผ้าสีขาว หลวม ๆ ดูสบาย ๆ แต่ก็เด่นบนเวที ที่มีแสงสีฟ้า น้ำเงิน สาดส่องอยู่ การแสดงชุดนี้ จะเน้นถึงความพลิ้วไหวของลายผ้า เมื่อมันถูกโบกไปรอบ ๆ เวทีโดยนักแสดง แต่ละคน ดูเพลิน ๆ ดีเหมือนกัน ไฮไลท์ของการแสดงชุดนี้คือมีการนำผ้าผื่นใหญ่(ที่ยึดไว้กับแกนอะไรสักอย่าง) ออกมาสวมกับแขนของนักแสดงหญิงคนหนึ่งแล้วเธอก็ออกเต้นไปรอบเวทีพร้อมกับกางแขน(ที่มีผ้าพลิ้วผืนใหญ่นั้น) คล้ายดูเหมือนเธอมีปีกงอกออกมา แล้วพร้อมจะบินสู่สวรรค์ (สมชื่อชุดการแสดง)

จบการแสดง มีพิธีมอบดอกไม้ ให้กับนักแสดง และผู้ประสานงาน ผู้อำนวยการ ฝ่ายต่าง ๆ (ที่ค่อนข้างจะอืดอาดและน่าเบื่อหน่ายสำหรับผม – แต่ก็ลุกไปไหนไม่ได้เพราะมีลุง และ ป้า ฝรั่งสองคนนั่งกันอยู่ )

รู้สึกคุ้มค่ากับเงิน 100 บาท และเวลาสองชั่วโมงกว่า ๆ ที่เสียไป เหมือนเป็นการได้เปิดมุมมองอะไรแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ก็มีเรื่องที่เสียดายอยู่บ้าง

เสียดาย ที่ทางโรงละครไม่อนุญาตให้บันทึกภาพขณะทำการแสดง

เสียดายที่มีแค่รอบเดียว

เสียดายที่ผมมาดูแค่คนเดียว

เสียดาย ที่วันนี้ไม่มีเธออยู่

1 Comments:

  • At 8:24 AM, Blogger NungNing said…

    อ่านแล้วอยากไปดูบ้าง
    แกบรรยายได้เห็นภาพมากเลย

    ปล.ดีขึ้น ๆ ทุกวันนะ

     

Post a Comment

<< Home